หม่อมและบุตรธิดา ของ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร)

เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์มีหม่อมและบุตรธิดาหลายคนดังนี้

  • คุณนายช่วง ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงสำลี อิศรพงศ์พิพัฒน์ กล่าวถึงคุณนายช่วงไว้ตอนหนึ่งว่า “เจ้าพระยาเทเวศรฯ ได้แต่งงานกับหญิงสาวชื่อช่วง มีเชื้อสายจีน ในบ้านมักจะเล่ากันว่า “เป็นลูกสาวเจ้าสัวโรงกะทะ” คนในบ้านเรียกกันอย่างยกย่องว่า คุณนายช่วง ภรรยาที่แต่งงานนี้ มีบิดามารดาเป็นคนมั่งคั่ง หม่อมสุดมารดาซึ่งมีเชื้อสายจีน เป็นผู้ไปสู่ขอมาให้ลูกชายคนเดียวของท่าน โดยที่เจ้าพระยาเทเวศรฯ มิได้มีความรักแลปรารถนา เมื่อแต่งงานแล้วก็ไม่ค่อยไปเยี่ยมเยือน ต้องให้หม่อมสุดเป็นผู้เตือนอยู่บ่อยๆ คุณนายช่วงเป็นหญิงที่ไม่ค่อยจะมีโชคดีนัก มีลูกหญิงกับเจ้าพระยาเทเวศรฯ คนหนึ่ง แล้วตัวท่านกับลูกท่านก็เสียชีวิตไปในเวลาใกล้เคียงกัน” (ไม่ทราบนามผู้แต่ง, ๒๕๑๖: ๘๔ - ๘๕)[5]
  • หม่อมเผื่อน กุญชร ณ อยุธยา เชื้อสายราชินิกุล ณ บางช้าง มีบุตรธิดากับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- หม่อมหลวงจรูญ กุญชร (ชาย)

- หม่อมหลวงเจริญ กุญชร

- หม่อมหลวงอึ่งอ่าง กุญชร

- พระยาเทวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมหลวงวราห์ กุญชร) (19 ธันวาคม พ.ศ. 2421 – 14 มีนาคม พ.ศ. 2500) (เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์, ๒๕๐๐: ๑)[8] มีภรรยาและบุตรธิดาดังนี้

           - คุณหญิงประยงค์ เทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ธิดานายจำเริญ ไกรฤกษ์) มีธิดากับพระยาเทเวศร์ฯ คือ ฉันทนา ศรีศักดิธำรง และนฤมล อัศวฤทธิ์

           - หม่อมราชวงศ์สุภาธร มีบุตรธิดากับพระยาเทเวศร์ฯ คือ ศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา, พงษ์สุลี กุญชร ณ อยุธยา และหม่อมอนุวงศ์ จิรประวัติ ณ อยุธยา (หม่อมของหม่อมเจ้าชายนิทัศนาธร จิรประวัติ) (https://th.wikipedia.org/wiki/หม่อมเจ้านิทัศนาธร_จิรประวัติ)[9]

           - นิน่า หรือ น้อยหน่า (ถึงแก่กรรม) แต่ไม่มีบุตรธิดา

           - นวล มีธิดากับพระยาเทเวศร์ฯ คือ กุญชรี กุญชร ณ อยุธยา

           - สำเนียง มีธิดากับพระยาเทเวศร์ฯ คือ อัมพวัน สุริยกุล ณ อุยธยา (เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์, ๒๕๐๐: ๑๙)[8]

- คุณหญิงเพชรดา ณ ป้อมเพชร์ (หม่อมหลวงจิตรกุล กุญชร) ได้สมรสกับมหาอำมาตย์โท พระยาเพชรดา (สะอาด ณ ป้อมเพชร์) (เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์, ๒๕๐๐: ๑)[8]

  • หม่อมนวล กุญชร ณ อยุธยา (ไม่ทราบปีที่เกิด - พ.ศ. 2458) ปีที่ถึงแก่กรรมคำนวนจากปีที่ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ กำพร้ามารดา คือตั้งแต่อายุ ๔ ปี หรือปี พ.ศ.๒๔๕๘ (กันต์ อัศวเสนา, ๒๕๕๙: ๖๑)[10] หม่อมนวลเป็นนักแสดงตัวนางของวังบ้านหม้อ และเป็นครูของหลวงไพจิตรนันทการ (ทองแล่ง สุวรรณภารต) มีธิดากับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ (๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔) ได้สมรสกับ นายแพทย์ชม เทพยสุวรรณ แต่ไม่มีบุตรและธิดา (https://th.wikipedia.org/wiki/หม่อมหลวงบุญเหลือ_เทพยสุวรรณ)[11]

  • หม่อมจันทร์ กุญชร ณ อยุธยา (พ.ศ. ๒๔๒๔ - ไม่ทราบปีที่ถึงแก่กรรม) น้องสาวหม่อมเนย ซึ่งเป็นหม่อมของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ เช่นกัน หม่อมจันทร์ได้ฝึกหัดการรำกับหม่อมวันและหม่อมเข็มตั้งแต่ยังเล็ก โดยฝึกหัดเป็นตัวพระ รวมทั้งต่อเพลงร้องสำหรับการแสดงละครในและละครดึกดำบรรพ์ จนได้เป็นนักร้องและนักแสดงคนสำคัญของวังบ้านหม้อ มีฝีมือทางด้านการแสดงตัวคาวีเป็นที่ดีเยี่ยม และมีผลงานการบันทึกเสียงมากมาย ภายหลังได้ออกจากวังบ้านหม้อไปอยู่ในราชสำนักของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วย้ายมาเป็นนักร้องในกรมมหรสพ ต่อมาได้ใช้ชีวิตร่วมกับขุนนิมิตราชฐาน (พูนพิศ อมาตยกุล และคณะ, ๒๕๓๒: ๕๐ - ๕๑)[12] หม่อมจันทร์มีบุตรกับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร (๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙) (https://th.wikipedia.org/wiki/หม่อมหลวงขาบ_กุญชร)[13] มีภรรยาและบุตรธิดาดังนี้

                   - นางสาวเทียบ ฤทธาคนี [ธิดานายพันโท พระยาทัพพสาธก์เสนา (นวม ฤทธาคนี) กับคุณหญิงเนย] มีบุตรธิดากับพลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร คือ ทวีวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา, พันตำรวจเอก (พิเศษ) วรวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา, อุรัชช์ ลอเรนส์, พลโท วิวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา, กนิษฐา วิลสัน และเทียมแข จรูญโรจน์ ณ อยุธยา

                   - สินีนาฏ โพธิเวช มีธิดากับพลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร คือ เตือนใจ ดีเทศน์, เพ็ญแข กุญชร ณ อยุธยา และพิมพ์แข กุญชร ณ อยุธยา

  • หม่อมมาลัย กุญชร ณ อยุธยา (พ.ศ.๒๔๓๐ - ๒๔๖๕) เป็นนักแสดงและนักร้องเสียงดีของวังบ้านหม้อ มีผลงานการบันทึกเสียงมากมาย เมื่อแสดงละครดึกดำบรรพ์มักได้รับเลือกแสดงเป็นตัวเอกเสมอ ได้ฝึกหัดการรำกับหม่อมเข็ม หัดร้องเพลงกับหม่อมเปรม หม่อมในพระองค์เจ้าสิงหนาทฯ ต่อเพลงร้องละครกับนายสิน สินธุนาคร รวมทั้งได้ต่อเพลงร้องกับหม่อมเนยและหม่อมเจริญด้วย ต่อมาหนีออกจากวังบ้านหม้อ แล้วไปชอบพอกับนายห้างฝรั่งชื่อ “ริกันตี” จึงกลับไปวังบ้านหม้อเพื่อขอหนังสือหย่า แต่เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ไม่ยินยอม จากนั้นได้เลือกใช้ชีวิตคู่ร่วมกับนายทหารเรือผู้หนึ่งจนมีธิดา ๑ คน แต่ญาติฝ่ายชายรังเกียจจึงจัดให้แยกทางกัน ภายหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย จัดให้มีคณะละครที่วังเพชรบูรณ์ ทรงทราบว่าหม่อมมาลัยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทั้งกระบวนการร้องและรำจึงให้เข้ามาเป็นครูสอน ในบั้นปลายชีวิตได้ชีวิตร่วมกับนายเจริญ ศัพท์โสภณ นักระนาดฝีมือดี หัวหน้านักดนตรีของวังเพชรบูรณ์ แต่ไม่มีบุตรร่วมกัน และป่วยตายด้วยโรควัณโรคที่วังเพชรบูรณ์ (พูนพิศ อมาตยกุล และคณะ, ๒๕๓๒: ๒๒๓ - ๒๒๔)[12] หม่อมมาลัยมีธิดากับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ (๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๖) เจ้าของนามปากกาดอกไม้สด ได้สมรสกับศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ แต่ไม่มีบุตรและธิดา (https://th.wikipedia.org/wiki/สุกิจ_นิมมานเหมินท์)[14]

  • หม่อมเคลือบ กุญชร ณ อยุธยา เป็นนักร้องของวังบ้านหม้อ ต่อเพลงจากหม่อมศิลาในพระองค์เจ้าสิงหนาทฯ ลีลาการขับร้องติดตลกคล้ายแหล่เทศน์ของผู้ชาย หม่อมเคลือบมีธิดากับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- หม่อมหลวงแถม จักรพันธ์ุ (หญิง) ได้สมรสกับหม่อมเจ้าแววจักร จักรพันธุ์

  • หม่อมเพื่อน กุญชร ณ อยุธยา เป็นธิดาของจมื่นราชนาคา (แย้ม) กับนางป้อม บุตรีพระยามหาอรรคนิกร (เม่น) (http://www.sammajivasil.net/sripen/history005.htm)[15] มีบุตรกับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- หม่อมหลวงประยูร กุญชร (ชาย) ถึงแก่กรรม ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อคราวตามเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ.๒๔๔๐ (เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์, ๒๕๐๐: ๖ - ๗)[8]

  • หม่อมวัน กุญชร ณ อยุธยา ในหนังสืองานศพ หม่อมหลวงวงษ์ กมลาสน์ เขียนไว้ว่า “วรรณ” เป็นตัวละครรุ่นใหญ่ของเจ้าพระยาเทวศร์วงศ์วิวัฒน์ ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ กล่าวถึงหม่อมวันไว้ตอนหนึ่งว่า “ส่วนครูนางนั้น ก็คือหม่อมเลื่อน และหม่อมวัน มีชื่อเสียงว่าเป็นตัวบุษบาที่สวยมากทั้งในขบวนรำและในรูปโฉมทั้งสองคน ” (หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ และสมภพ จันทรประภา, ๒๕๑๑: ข)[16] หม่อมวันมีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงคือ ขุนวาดพิศวง (แถม ศิลปชีวิน) มีบุตรธิดากับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- พระยาวิชิตชลธาร (หม่อมหลวงเวศร์ กุญชร) (๒๗ ธันวาคม ๒๔๓๑ - ๒๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) ได้สมรสกับคุณหญิงผิว วิชิตชลธาร มีบุตรธิดาร่วมกัน คือ นายกันต์ กุญชร ณ อยุธยา นายจินต์ กุญชร ณ อยุธยา นางสาวเกศินี กุญชร ณ อยุธยา นางสาวมันทนา กุญชร ณ อยุธยา และนายสุมน กุญชร ณ อยุธยา (ไม่ทราบนามผู้แต่ง, ๒๔๗๖: ฅ - ช)[17]

- หม่อมหลวงวงษ์ กมลาสน์ (๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๗ - ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๓) เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ยกให้เป็นบุตรของหม่อมเลื่อน หม่อมท่านหนึ่งของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ เท่ากับมีมารดา ๒ คนคือ หม่อมวันกับหม่อมเลื่อน และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเมตตาประดุจพระธิดามาแต่เล็ก โปรดให้เรียกพระองค์ท่านว่า “เสด็จพ่อ” ต่อมาเมื่ออายุได้ ๒๖ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอ หม่อมหลวงวงษ์ ให้แก่ หม่อมเจ้าศุขปรารภ กมลาสน์ และพระราชทานน้ำสังข์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๓ มีบุตรชายเพียงคนเดียวคือ หม่อมราชวงศ์ยงสุข กมลาสน์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, ๒๔๙๖: ๓ - ๕)[18]

  • หม่อมคร้าม กุญชร ณ อยุธยา เดิมเป็นหม่อมในพระองค์เจ้าสิงหนาทฯ ต่อมาเมื่อสิ้นนพระชนม์ได้เป็นหม่อมของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ กล่าวถึงหม่อมคร้ามไว้ตอนหนึ่งว่า “ผู้ที่มีชื่อเสียงในคณะละครขงพระองค์เจ้าสิงหนาทฯ ก็มี หม่อมเอม เป็นต้นบท และมีหม่อมชั้นเล็กสองคนที่มีชื่อเสียงปรากฏต่อมาเป็นระยะยาวนานคือ หม่อมเข็ม หม่อมคร้าม คุณหญิงเทศได้เข้าเป็นลูกศิษย์ของหม่อมคร้าม ซึ่งเป็นครูที่สอนการรำได้ทุกทาง แต่ที่มีชื่อเสียงนั้นก็คือ เป็นครูยักษ์ ..... หม่อมคร้ามและหม่อมเข็มต่อมาได้เป็นตัวละครสำคัญในคณะละครของเจ้าพระยาเทเวศรฯ รุ่นใหญ่” (ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ และสมภพ จันทรประภา, ๒๕๑๑: ก - ข)[16] นอกจากนี้ยังมีความสามารถทางขับร้องด้วย ได้ต่อเพลงจากหม่อมศิลาใน พระองค์เจ้าสิงหนาทฯ หม่อมคร้ามมีบุตรกับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- หม่อมหลวงคอย กุญชร (ชาย)

  • หม่อมเจริญ กุญชร ณ อยุธยา นักร้องเสียงดีของวังบ้านหม้อ มีผลงานการบันทึกเสียงไว้มากมาย ภายหลังได้ออกจากวังบ้านหม้อไปใช้ชีวิตร่วมกับจางวางทั่ว พาทยโกศล มีธิดากับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- หม่อมหลวงแฉล้ม กุญชร (หญิง)

- คุณหญิงราชมนู (หม่อมหลวงเล็ก กุญชร อัศวเสนา) ได้สมรสกับพระยาราชมนู (ถั่ว อัศวเสนา)

  • หม่อมแจ่ม กุญชร ณ อยุธยา (พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๘๒)[19] ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงสำลี อิศรพงศ์พิพัฒน์ กล่าวถึงหม่อมแจ่มไว้ตอนหนึ่งว่า “เป็นญาติกับเจ้าจอมมารดาศิลา ในรัชกาลที่ ๒ นับว่าเป็นเชื้อสาย ราชินีกูลบางช้าง” (ไม่ทราบนามผู้แต่ง, ๒๕๑๖: ๑)[5] และ “หม่อมแจ่ม มารดา ม.ล.สำลี เป็นนักร้องคนหนึ่ง เป็นคนมีความจำแม่นยำ และชอบในทางเพลงที่เรียกว่า เพลงภาษาคือเพลงที่ดัดแปลงมาจากทำนองแปลก ๆ ที่เป็นเพลง “ลาว” “เขมร” “ญวน” “จีน” ซึ่งพระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) กับ พระเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) ช่วยกันปรับปรุง ในความควบคุมของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ หม่อมแจ่มจึงมักรับบทที่ต้องร้องเพลงที่แสดงความรู้สึก และรำพร้อมไปกันได้อย่างว่องไว เช่นเป็นท้าวสามล ท้าวเสนากุฏ ล้วนแต่เป็นตัวที่ต้องแสดงบททำให้ขบขัน” (ไม่ทราบนามผู้แต่ง, ๒๕๑๖: ๖)[5] หม่อมแจ่มมีธิดากับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- หม่อมหลวงสำลี อิศรพงศ์พิพัฒน์ (๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๔๕ – ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖) ได้สมรสกับพระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมหลวงศิริ อิศรเสนา) มีบุตรคือ

- นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา สมรสกับบุนนาค หงส์เหิน มีบุตรคือ ด.ช.พิพัฒน์พงศ์

- นายนุรักษ อิศรเสนา ณ อยุธยา

- นายนัดดา อิศรเสนา ณ อยุธยา สมรสกับเสาวนีย์ ทองเจือ มีบุตรคือ ด.ช.วรศิษฏ์ ด.ช.วรงค์ และด.ญ.พัทรี (ไม่ทราบนามผู้แต่ง, ๒๕๑๖: ๑ - ๑๑)[5]

  • หม่อมบัว กุญชร ณ อยุธยา มีธิดากับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- หลวงวัยวุฒิปรีชา (หม่อมหลวงไวยวัฒน์ กุญชร) (๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๙ - ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๙) (พระยาอนุมานราชธน, ๒๕๐๐: ก)[20] มีภรรยาและบุตรธิดาดังนี้

                    - นางสาวเชื้อ โรจนประดิษฐ์ ธิดาพระยาวรุณฤทธีศรีสมุทปราการ (แช่ม โรจนประดิษฐ์) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานน้ำสังข์ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๘ มีบุตรธิดากับหลวงวัยวุฒิปรีชาคือ นายศุกรวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา และนางสาวศิริวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา

                   - นางสาวชิน โรจนประดิษฐ์ มีบุตรกับหลวงวัยวุฒิปรีชาคือ นายปิยวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา

                   - หม่อมหลวงพัทรจิตร สุทัศน์ มีบุตรกับหลวงวัยวุฒิปรีชาคือ นายจิราวุธ กุญชร ณ อยุธยา และนายวิทยาวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา (พระยาอนุมานราชธน, ๒๕๐๐: ฆ - ง)[20]

  • หม่อมเนย กุญชร ณ อยุธยา พี่สาวหม่อมจันทร์ กุญชร ณ อยุธยา (หม่อมของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ เช่นกัน) หม่อมเนยมีความรู้ความสามารถทั้งกระบวนการร้องและกระบวนการรำ ทั้งที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่มีความจำดี สามารถจำบทร้องได้อย่างแม่นยำ เมื่อมีบุตรธิดาแล้วจึงเลิกแสดงละครและขับร้อง หม่อมเนยเป็นผู้มีอุปนิสัยดีเป็นที่เคารพนับถือของบรรดาลูกของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ทุกคน (พูนพิศ อมาตยกุล และคณะ, ๒๕๓๒: ๕๐)[12] หม่อมเนยมีบุตรธิดากับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- หม่อมหลวงปาด กุญชร (หญิง)

- หม่อมหลวงแขก กุญชร (ชาย) (พ.ศ.๒๔๓๓ - ๒๔๗๗) (ไม่ทราบนามผู้แต่ง, ๒๔๘๑: ฃ)[21]

- หม่อมหลวงไข่ กุญชร (หญิง)

หม่อมแช่ม กุญชร ณ อยุธยา มีธิดากับเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ คือ

- หม่อมหลวงสารี กุญชร (ศิริวงศ์) (หญิง) (กันต์ อัศวเสนา, ๒๕๕๙: ๖๑)[10]

  • หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา เดิมเป็นหม่อมในพระองค์เจ้าสิงหนาทฯ ต่อมาเมื่อสิ้นพระชนม์ได้เป็นหม่อมของเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ ได้กล่าวถึงหม่อมเข็มไว้ตอนหนึ่งว่า “ผู้ที่มีชื่อเสียงในคณะละครของพระองค์เจ้าสิงหนาทฯ ก็มี หม่อมเอม เป็นต้นบท และมีหม่อมชั้นเล็กสองคนที่มีชื่อเสียงปรากฏต่อมาเป็นระยะยาวนานคือ หม่อมเข็ม หม่อมคร้าม ..... ส่วนหม่อมเข็มนั้นเป็นผู้มีชื่อเสียงในทางเป็นครูพระ หม่อมคร้ามและหม่อมเข็มต่อมาได้เป็นตัวละครสำคัญในคณะละครของเจ้าพระยาเทเวศรฯ รุ่นใหญ่” (หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ และสมภพ จันทรประภา, ๒๕๑๑: ก - ข)[16] และยังเป็นผู้คิดค้นกระบวนการรำและฝึกหัดละครดึกดำบรรพ์ของวังบ้านหม้อ “หม่อมเข็ม กุญชร มีหน้าที่คิดการรำและหัด” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, ๒๕๕๒: ๘๓)[22] ไม่ทราบวันเดือนปีเกิดและถึงแก่กรรมชัดเจน แต่ท่านเป็นคนอายุยืน ดังที่ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ และสมภพ จันทรประภา กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “แต่มีหม่อมเข็มคนเดียวที่มีชีวิตอยู่มาจนกระทั่งเจ้าพระยาเทเวศรฯ เลิกการละครในตอนปลายรัชกาลที่ ๕” (ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ และสมภพ จันทรประภา, ๒๕๑๑: ข)[16] และทราบแน่ชัดว่าในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ยังมีชีวิตอยู่ เพราะปรากฏหลักฐานในจดหมายในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทรงประทานแด่พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวถึงหม่อมเข็มไว้ตอนหนึ่งว่า “คนทั้ง ๕ ซึ่งช่วยกันทำในเวลานั้น ต่างก็ตายไปแล้วสามคนเหลือแต่ฉันกับหม่อมเข็มสองคน” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, ๒๕๕๒: ๘๔)[22] ซึ่งจดหมายดังกล่าวลงวันที่ไว้เป็นวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๘ แต่ท่านจะมีอายุต่อมาอีกกี่ปีก็ยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด
  • หม่อมพร้อม เป็นละครรุ่นใหญ่ของเจ้าพระยาเทวศร์วงศ์วิวัฒน์ ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ กล่าวถึงหม่อมพร้อมไว้ตอนหนึ่งว่า “ก็มีหม่อมพร้อม ผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นอิเหนา ที่กล่าวกันว่าเวลา “เข้าเครื่อง” แล้ว งามไม่มีผู้ใดเปรียบ เป็นที่โปรดปรานของพระบรมวงศานุวงศ์และเป็นที่นิยมของคนดูทั่วไป” (ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ และสมภพ จันทรประภา, ๒๕๑๑: ข)[16]
  • หม่อมละมัย ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ กล่าวถึงหม่อมละมัยไว้ตอนหนึ่งว่า “คุณหญิงเทศตั้งแต่เริ่มฝึกหัดละคร ก็มีท่วงทีว่าจะเป็นตัวเอก เป็นลูกศิษย์คนสำคัญของหม่อมคร้าม ได้ฝึกหัดเป็นยักษ์จนชำนิชำนาญ เมื่อเป็นสาวรุ่นอยู่มักจะแสดงเป็นตัวรามสูรร่วมกันกับหม่อมละมัย กุญชร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นหม่อมที่ยังมีชีวิตอยู่คนหนึ่งของเจ้าพระยาเทเวศรฯ ในขณะนี้ และหม่อมต่วน ผู้ซึ่งได้มาร่วมงานกับคุณหญิงเทศ ในปั้นปลายของชีวิตในกรมศิลปากร หม่อมละมัยเป็นตัวอรชุน และหม่อมต่วนเป็นนางเมฆขลา คุณหญิงเทศเป็นตัวละครที่มีวัยสูงกว่าหม่อมละมัยและหม่อมต่วนเล็กน้อย” (หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ และสมภพ จันทรประภา, ๒๕๑๑: ข)[16] หม่อมละมัยผู้นี้เป็นผู้มีอายุยืน เพราะข้อความข้างต้นตอนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อเป็นสาวรุ่นอยู่มักจะแสดงเป็นตัวรามสูรร่วมกันกับหม่อมละมัย กุญชร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นหม่อมที่ยังมีชีวิตอยู่คนหนึ่งของเจ้าพระยาเทเวศรฯ ในขณะนี้” ซึ่งหนังสือนี้พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทศ สุวรรณภารต) ณ ฌาปนสถานวัดธาตุทอง วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ ถ้ามีชีวิตไม่ถึง พ.ศ.๒๕๑๑ ก็น่าจะมีชีวิตถึง พ.ศ.๒๕๑๐ เพราะไม่ทราบแน่ชัดว่าระหว่างที่ติพิมพ์หนังสือนี้อยู่ท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรืออาจมีชีวิตเลย พ.ศ.๒๕๑๑ ก็เป็นได้
  • หม่อมเลื่อน เป็นละครรุ่นใหญ่ของเจ้าพระยาเทวศร์ฯ ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ กล่าวถึงหม่อมเลื่อนไว้ตอนหนึ่งว่า “ส่วนครูนางนั้น ก็คือหม่อมเลื่อน และหม่อมวัน มีชื่อเสียงว่าเป็นตัวบุษบาที่สวยมากทั้งในขบวนรำและในรูปโฉมทั้งสองคน หม่อมเลื่อนนั้นสวยโดยธรรมชาติด้วย” (ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ และสมภพ จันทรประภา, ๒๕๑๑: ข)[16]
  • หม่อมต่วน หรือ ศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก (๕ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๒๖ - ๑๙  พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๙) เป็นนักแสดงตัวนางของวังบ้านหม้อ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ (เทส สุวรรณภารต) ได้ชวนมาเป็นครูสอนละครในวังหลวง เมื่อครั้งมีการรื้อฟื้นละครดึกดำบรรพ์ในราชสำนัก ต่อภายหลังได้เป็นครูสอนที่วิทยาลัยนาฏศิลป

นอกจากนี้เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ยังมีหม่อมท่านอื่น ๆ อีกที่ไม่ทราบประวัติแน่ชัด ได้แก่

  • หม่อมทับทิม น้องสาวหม่อมบัวเผื่อน (กันต์ อัศวเสนา, ๒๕๕๙: ๖๑)[10]
  • หม่อมตลับ ลูกของป้าหม่อมเจริญ เป็นคนพาหม่อมเจริญมาอยู่วังบ้านหม้อ (พูนพิศ อมาตยกุล และคณะ, ๒๕๓๒: ๖๕)[12]
  • หม่อมแดง เป็นนักร้อง
  • หม่อมทิม
  • หม่อมพริ้ง
  • หม่อมจันทร์
  • หม่อมคร้าม
  • หม่อมเปรม

 และยังมีบุตรธิดาอีกหลายคนที่ไม่ทราบว่าเกิดจากหม่อมท่านใด ได้แก่

พระยาอาทรธุรศิลป์ (หม่อมหลวงช่วง กุญชร) (๒ มีนาคม ๒๔๑๗ - ๒๙ กันยายน ๒๔๗๓) เป็นบุตรชายคนแรกของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ได้สมรสกับนางสาวชม ธิดานายฮวด หุตะสิงห์ มีบุตรธิดาร่วมกัน คือ คุณหญิงกฤตราชทรงสวัสดิ์ (เชย) นายวิชิต กุญชร ณ อยุธยา และนายวิเชียร กุญชร ณ อยุธยา (ไม่ทราบนามผู้แต่ง, ๒๔๗๓: ๓ - ๖)[23]

หม่อมหลวงแม้น กุญชร (หญิง)

หม่อมหลวงจรัส กุญชร (หญิง)

หม่อมหลวงเครือวัลย์ กุญชร (ชาย)

หม่อมหลวงลำใย กุญชร (ไม่ทราบวันเดือนปีเกิด - ๑๗ กันยายน ๒๔๖๑) แต่ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๓๗ ปี รับราชการเป็นมหาดเล็กวิเศษ กรมมหาดเล็ก

พระยาศรีกฤดากร (หม่อมหลวงตุ่ม กุญชร)

หม่อมหลวงปุย กุญชร (หญิง) ได้สมรสกับพระยาประดิพัทธภูบาล (คอ ยู่เหล ณ ระนอง) (http://naranong.net/family_1_1.html)[24]

หม่อมหลวงพริ้ม กุญชร (หญิง)

ขุนชิตรักต์ประกอบ (หม่อมหลวงปุ๊ กุญชร) (๒๔ เมษายน ๒๔๓๓ - ๒๙ มกราคม ๒๔๗๓)

หม่อมหลวงแต๋ว กุญชร (หญิง)

ร้อยโท หม่อมหลวงพร้อม กุญชร (ชาย)

หม่อมหลวงเภา กุญชร (หญิง)

หม่อมหลวงอาภา อภัยวงศ์วรเศรษฐ (หญิง) ได้สมรสกับพระอภัยวงศ์วรเศรษฐ (ช่วง อภัยวงศ์) (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3436.19)[25]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3436.19 http://naranong.net/family_1_1.html http://www.sammajivasil.net/sripen/history005.htm http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2427/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2427/06... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2432/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2432/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2433/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2436/03...